เส้นทางเศรษฐีของ(ว่าที่)เชฟเหรียญทอง - ตอนที่ 64 รถรับส่งที่แข็งแกร่งที่สุด
ตอนที่ 64 รถรับส่งที่แข็งแกร่งที่สุด
เมื่อได้ยินตาเฒ่าพูดเช่นนี้ ซ่งจื่อเซวียนก็หัวเราะทันที ที่เขาชอบของเล่นเหล่านี้ก็เพราะได้รับอิทธิพลจากตาเฒ่าโดยไม่รู้ตัว แต่ตอนนี้เขาเป็นพ่อครัวแล้ว เขาก็เริ่มสนใจเครื่องครัวหายากที่ตาเฒ่าพูดถึงมากขึ้นจริงๆ
ฟางจิ่งจือรับปี่เซียะหยกมาไว้ในมือ สีหน้าของเขาก็เคร่งขรึมขึ้นทันที เขาจับมันพลิกมองขึ้นลงซ้ายขวาหลายครั้ง
“เป็นของเล่นจริงๆ เมื่อก่อนผู้คนเรียกว่าเหล่าเคิง[1] แต่ตอนนี้มีไม่มากแล้ว สีก็ไม่เลว แต่น่าเสียดายไม่มีด้ามส่องไฟ[2] ไม่งั้นปู่จะประเมินดูด้านในได้สวยกว่านี้”
“แค่นี้ก็น่าสนใจแล้วปู่ ปู่อายุเกินแปดสิบแล้วจะยังดูหยกเป็นอีกเหรอ” ซ่งจื่อเซวียนพูดด้วยสีหน้าเหลือจะเชื่อ
ฟางจิ่งจือเหลือบมองเขา “เพ้อเจ้อให้มันน้อยๆ หน่อย การดูเป็นแค่เรื่องรอง พอจับปู่ก็รู้แล้วเป็นหินหยกจากที่ไหน”
“ใช่สิ ทำไมปู่ไม่บอกว่าเป็นท่านผู้เฒ่ามือหนึ่งเลยล่ะ เฮ้ยปู่ ผมจะทดสอบปู่นะ ทายซิว่าหยกนี้ราคาเท่าไร” ซ่งจื่อเซวียนพูดด้วยรอยยิ้มมีเลศนัย ทั้งยังใช้คำพูดของซางเทียนซั่วมาทดสอบตาเฒ่า เขาพนันเลยว่าตาเฒ่าที่อยู่ติดบ้านมาหลายปีแล้วไม่สามารถตีราคาที่เหมาะสมได้!
“ราคา” ฟางจิ่งจือยิ้มบางๆ “เจ้านี่น่าจะมีราคาหกหลัก”
จากนั้นซ่งจื่อเซวียนก็อ้าปากตาค้าง ช่วงหลายปีมานี้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นและสิ่งของต่างๆ ก็เพิ่มราคาขึ้นเป็นเท่าตัว ตาเฒ่าจะตีราคาออกได้ยังไง
“หกหลักเหรอ บอกตัวเลขให้ผมด้วยสิ!” ซ่งจื่อเซวียนกล่าว
ฟางจิ่งจือยกยิ้มแล้วชูสองนิ้วเป็นภาษามือ “เริ่มที่สองแสน ไอ้หนู แกได้กำไรแล้ว!”
“ได้กำไรเหรอ รู้ได้ยังไงว่าผมได้กำไร แล้วถ้าผมซื้อมาเกินสองแสนล่ะ”
“ฮ่าๆๆ ไอ้เด็กคนนี้ที่ยังมีคำว่า ‘จน’ สลักอยู่บนหน้า สองแสนอะไรกัน…สองร้อยฉันก็ไม่เชื่อ!”
ฟางจิ่งจือแทงใจดำอย่างจัง สิ่งที่ซ่งจื่อเซวียนคิดคือ ถ้าสมบัติชิ้นนี้ราคาหลายพันหยวนจริงๆ เขาอาจจะซื้อไม่ไหว ถ้าสองร้อยหยวนก็ไม่ต่างกัน
แม้ว่าเขารู้ข้อนี้ แต่เขาใจไม่ถึงจริงๆ แน่นอนว่าเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในวัยเด็กด้วย ตั้งแต่เด็กจนโต ซ่งจื่อเซวียนกลัวความยากจน อย่างน้อยแม้ในช่วงนี้เขามีเงินแล้วก็ยังลังเลใจที่จะใช้อยู่
“โอเค ปู่เก่งจริงๆ คราวหน้าผมจะพกด้ามส่องไฟมาให้ปู่จะได้ส่องมองชัดๆ” ซ่งจื่อเซวียนกล่าว จากนั้นเขาก็ขยับไปใกล้ฟางจิ่งจือด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม “ถ้างั้น…ตอนนี้ปู่ดูเสร็จแล้ว ปู่ก็…”
ฟางจิ่งจือเหลือบมองซ่งจื่อเซวียน อดไม่ได้ที่จะหัวเราะ “เอาล่ะ ปู่จะให้แกชม!”
จากนั้นผู้เฒ่าก็ยืนขึ้น ซ่งจื่อเซวียนก็รีบประคองเขาเดินไปที่หน้าตู้ที่อยู่ข้างๆ
ตู้นี้ทำจากไม้ชิงชัน ด้านหน้ามีลวดลายทองขนาดใหญ่และด้านหลังเต็มไปด้วยฝุ่น เป็นตู้ของฟางจิ่งจือที่เก็บไว้ในปีหนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบ ตามที่เขาพูดตู้นี้มีอายุเท่ากับราชวงศ์หมิง
แน่นอนว่าซ่งจื่อเซวียนไม่เคยสงสัยในเรื่องนี้สักนิด สุดท้ายมีเพียงวัสดุที่ดีจริงๆ เท่านั้นที่จะอยู่รอดได้นานหลายปีขนาดนี้
แต่ฟางจิ่งจือไม่ได้นำสมบัติใดๆ ออกจากตู้ หยิบเพียงกุญแจทองแดงออกมา กุญแจดอกนั้นยาวมาก ด้านหน้ามีฟันสองซี่และด้านหลังเป็นด้ามจับทรงกลม ความรู้สึกดูโบราณมาก
หลังจากนั้น ฟางจิ่งจือก็ปิดตู้ หยิบกุญแจแล้วเดินออกจากห้อง ลานบ้านเล็กๆ ของฟางจิ่งจือไม่นับว่าใหญ่มาก แต่นอกเหนือจากห้องครัวและห้องน้ำก็มีแค่สามห้องในนั้น ห้องหนึ่งเต็มไปด้วยชั้นหนังสือ ตู้สูงเตี้ย และเตียงนอนที่ทำจากไม้
ซ่งจื่อเซวียนเคยเข้ามาปัดกวาดเช็ดถู เขาเช็ดฝุ่นออกอย่างระมัดระวังทุกครั้ง นอกจากนี้เขายังระวังแจกันเคลือบไม่กี่ใบที่อยู่มุมห้อง ซึ่งด้านในมีภาพวาดตัวอักษรหลายสิบแผ่น
อีกห้องหนึ่งซ่งจื่อเซวียนไม่เคยเข้าไปเลย ผู้เฒ่ามักจะแขวนกุญแจทองแดงไว้เสมอ ซ่งจื่อเซวียนเคยถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตาเฒ่าก็ไม่ได้ตอบตรงไปตรงมา
แต่ในเวลานี้ ฟางจิ่งจือกำลังเดินไปที่ห้องนั้น
เมื่อไปถึงหน้าประตูห้องก็หยุดฝีเท้าแล้วพูดว่า “เจ้าหลานหัวขโมย รอที่ประตูล่ะ เข้าใจไหม”
“ครับ ปู่” แม้ว่าซ่งจื่อเซวียนมักจะหยอกล้อกับผู้เฒ่า แต่เขาไม่เคยไม่รู้จักเด็กไม่รู้จักผู้ใหญ่ แต่ไหนแต่ไรเขาก็เชื่อฟังคำสั่งของผู้เฒ่ามาโดยตลอด
ฟางจิ่งจือเดินเข้าไปในห้องแล้วเปิดไฟ ซ่งจื่อเซวียนมองเห็นแสงไฟสลัวผ่านรอยแตกของประตู แต่ไม่ได้เข้าไปใกล้ เพราะนี่คือความเป็นส่วนตัวของตาเฒ่าฟาง
ประมาณยี่สิบนาทีต่อมา ผู้เฒ่าก็เดินออกมาจากห้อง ในมือถือกล่องที่มีความยาวห้าสิบหรือหกสิบเซนติเมตรออกมาด้วย
กล่องไม่ได้ทำจากไม้ราคาแพง เพียงแต่หุ้มด้วยผ้า พื้นผิวบางส่วนได้รับความเสียหายเผยให้เห็นพื้นหลังสีขาวด้านใน แต่ก็ไม่สามารถหยุดความตั้งหน้าตั้งตารอของซ่งจื่อเซวียนได้
“ปู่ ทำไมนานขนาดนี้ล่ะ…”
“ไร้สาระ ทำไมฉันจะไม่ชื่นชมของที่เก็บสะสมไว้ก่อนล่ะ” ฟางจิ่งจือกลอกตาไปที่ซ่งจื่อเซวียนและพูดว่า “ยืนบื้อทำไมอยู่ตรงนั้น ยังไม่มารับไปอีก”
“อ้อๆ”
ซ่งจื่อเซวียนเดินมาหยิบกล่อง เมื่อถึงมือครู่หนึ่ง เขาก็พบว่าน้ำหนักมันไม่เบาเลย “โห โคตรหนักเลย”
“เพ้อเจ้อ ในบรรดาเครื่องครัวชั้นเยี่ยมของจริง จะเอาอะไรมาเบากัน”
เมื่อพูดจบฟางจิ่งจือก็เดินกลับไปที่ห้อง ซ่งจื่อเซวียนก็เดินตามเขาไปโดยอุ้มกล่องไว้
ซ่งจื่อเซวียนวางกล่องลงบนโต๊ะ ใช้มือปัดฝุ่นที่เกาะบนผิวกล่องออกเบาๆ ในขณะที่เปิดกล่อง จิตใจที่เคารพนับถือก็ก่อเกิดขึ้นในใจของเขา นับว่าเป็นความเคารพต่อพ่อครัวที่อยู่ในยุคแรก
ทันทีที่เปิดกล่อง ซ่งจื่อเซวียนก็ตื่นตะลึงกับความรู้สึกท่วมท้นของประวัติศาสตร์ซึ่งปะทะหน้าเข้ามา
ความรู้สึกท่วมท้นนี้ไม่ได้มาจากเนื้อสัมผัสหรือน้ำหนักของตะหลิว แต่มาจากความลึกล้ำที่ไม่รู้สะสมมานานนับเดือนนับปีเท่าไรแล้ว
เดิมทีซ่งจื่อเซวียนคิดว่าตะหลิวลายฟีนิกซ์คือกระทะ[3] ไม่คิดว่ามันจะเป็นตะหลิวสำหรับทำอาหาร ความยาวประมาณสี่สิบห้าเซนติเมตรและตัวตะหลิวเป็นสีเงิน ด้ามจับสลักลวดลายคล้ายขนนก มีหัวนกฟีนิกซ์อยู่ที่ปลายตะหลิว เห็นได้ชัดว่าเป็นหนึ่งเดียวกับตัวตะหลิว ไม่ได้ใช้การเชื่อมเข้าด้วยกัน เพราะในยุคนั้นยังไม่มีทักษะการเชื่อม
ตะหลิวให้ความรู้สึกละเอียดอ่อนแต่กลับมีความรู้สึกผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน พื้นผิวมีความอ่อนนุ่มและเย็นเฉียบ บริเวณขนฟีนิกซ์สามารถป้องกันไม่ให้ตะหลิวลื่นไหล โดยเฉพาะหัวฟีนิกซ์นั้นเหมือนยังมีชีวิตอยู่จริงๆ ดวงตาทั้งสองแหลมคม มีความโดดเด่นและสง่างามอันเป็นเอกลักษณ์ของฟีนิกซ์
“ปู่ เป็นตะหลิวจริงๆ ด้วย ผมคิดว่ามันเป็นกระทะใหญ่ที่เราใช้กันบ่อยๆ ซะอีก” ซ่งจื่อเซวียนกล่าว
ฟางจิ่งจือยกกาดินเผาสีม่วงขึ้นมาจิบหนึ่งอึกแล้วพูดว่า “ไม่ผิดหรอก ในวงการพ่อครัวมีชื่อเรียกหลายคำสำหรับเครื่องครัวเหล่านี้ บางคนเรียกว่าเฉ่ากัวหรือเฉ่าเสา บางคนเรียกเฉ่าเสาหรือเฉ่าฉ่าน[4] มันเป็นชื่อเรียกทั้งหมด ที่จริงแล้วตะหลิวลายฟีนิกซ์นี้ก็หมายถึงตะหลิวนั่นแหละ”
เมื่อได้ยินดังนั้นซ่งจื่อเซวียนก็พยักหน้าน้อยๆ เบื้องหน้าเป็นตะหลิวที่สวยงามเช่นนี้ เขาก็คร้านจะสนชื่อที่สับสนของเครื่องครัวไปโดยปริยาย
เขาหยิบตะหลิวขึ้นมากะน้ำหนัก “ตะหลิวนี้หนักจัง ปู่ ตะหลิวแบบนี้ใช้นานแล้วจะไม่เมื่อยเหรอ”
“พ่อครัวคนหนึ่ง เงื่อนไขทางกายภาพเกือบจะต้องเหนือกว่าฝีมือการปรุงอาหาร อย่างไรทำอาหารนานเข้า หากไม่มีกำลังกายต่อให้ฝีมือจะดีแค่ไหนก็สูญเปล่า แน่นอนว่าแรงแขนและแรงเอวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
“งั้นก็ไม่เลว…แต่อย่างน้อยถ้าใช้ตะหลิวที่เบากว่าหน่อยก็ช่วยออมแรงได้ ออมแรงได้จะสิ้นเปลืองแรงทำไม” ซ่งจื่อเซวียนกล่าว
ฟางจิ่งจือเผยยิ้ม “ไอ้เด็กโง่ แกเคยใช้ตาชั่งไหม แบบที่เอาไว้ขายผักขายผลไม้น่ะ”
ซ่งจื่อเซวียนครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง “เคยใช้สิ ตอนผมยังเด็กไปขายผักที่ปากซอยนั้นบ่อยๆ ยังไปเล่นตาชั่งของพวกเขาด้วย”
“ตาชั่งน่ะ ต้องวัดน้ำหนักของแผ่นรองชั่งก่อน จากนั้นลบน้ำหนักแผ่นรองชั่งออกจากน้ำหนักรวมเพื่อให้ได้น้ำหนักที่แท้จริงของสินค้าถูกไหมล่ะ” ฟางจิ่งจือถาม
ซ่งจื่อเซวียนพยักหน้า “ไม่ผิด แต่ปู่ ตอนนี้เราใช้ตาชั่งดิจิตอลกันแล้ว สามารถชั่งน้ำหนักรวมได้เลยนะ”
“หลักการก็เหมือนกัน แต่ต้องจำไว้ว่าต้องชั่งน้ำหนักผิวที่ห่อหุ้มก่อน ถ้าตัวผิวเป็นหนึ่งตำลึง น้ำหนักรวมก็จะลดลงหนึ่งตำลึง ถึงจะเป็นครึ่งกิโลก็เหมือนกัน แต่ถ้าน้ำหนักเบาหวิวจนแทบชั่งไม่ได้…จะลบยังไงเรอะ”
ซ่งจื่อเซวียนเงียบไปครู่หนึ่ง “ผมเข้าใจแล้วปู่ ถ้าหาทางลบไม่ได้ก็จะกะไม่ได้ ก็เหมือนกับการทำอาหาร ถ้าไม่เข้าใจน้ำหนักตะหลิวของตัวเองอย่างชัดเจน ก็จะคำนวณระยะใช้ไฟที่ดีที่สุดไม่ได้!”
“ไม่ผิด ไอ้หนูฉลาดดีนี่ ทุกคนสามารถปรุงอาหารรสเลิศด้วยตะหลิวของตัวเองได้ ถ้าเปลี่ยนตะหลิวก็อาจจะต่างนิดหน่อย เพราะไม่เข้าใจดีพอและตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องใช้ไฟเท่าไรและใช้เวลาผัดนานเท่าไรถึงจะดีที่สุด แต่เมื่อพูดถึงความเข้าใจ ตะหลิวยิ่งหนักก็ยิ่งควบคุมได้ง่าย ในวงการพ่อครัวเรียกกันว่าการกดมือและเข้ามือ”
“เข้ามือ ผมเคยได้ยินมาก่อน เมื่อก่อนเถ้าแก่หยางเปลี่ยนตะหลิวใหม่ให้จางขุย จางขุยบอกว่าตะหลิวใหม่นี้เข้ามือและใช้ดีมาก”
“นี่คือหลักการนี้ ถ้าตะหลิวเข้ามือการทำอาหารก็จะเป็นเรื่องสนุก แต่ถ้าเบาเกินไปก็จะไม่รู้สึกอะไรเลย และการทำอาหารก็จะไม่น่าสนใจ”
ซ่งจื่อเซวียนพยักหน้าช้าๆ เข้าใจสิ่งที่ผู้เฒ่าพูด แต่มือของเขาไม่ละออกจากตะหลิวลายฟีนิกซ์เลย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมผัสที่ผ่านมาอย่างโชกโชนหรือความรู้สึกเย็นเฉียบที่ผ่านเข้าสู่มือของเขา เขาแทบรอไม่ไหวที่จะจุดไฟตั้งกระทะให้ร้อนตอนนี้ แล้วให้ตะหลิวลายฟีนิกซ์ฟื้นคืนท่วงท่าที่งดงามเหมือนในอดีต!
ในสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งตะหลิวลายฟีนิกซ์นี้ได้รับความนิยมในหมู่พ่อครัวเทวดา แต่สมัยนี้… ไม่รู้ว่าจะรุ่งโรจน์อีกหรือไม่
“ปู่ ตะหลิวทำจากเงินหรือเปล่า”
“เจ้าโง่ จะทำจากเงินได้ยังไง เครื่องเงินสามารถใช้สำหรับของบางอย่างได้ แต่สัมผัสกับเปลวไฟโดยตรงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะละลาย นี่คือเหล็กตุน!”
“เหล็กตุน คืออะไรเหรอปู่ นับว่าเป็นเหล็กหรือเปล่า” ซ่งจื่อเซวียนถาม
“การตีเหล็กตุนมีต้นกำเนิดมาจากสมัยราชวงศ์สุย มีลักษณะคล้ายเหล็กกล้า แต่กลับมีคุณสมบัติเป็นเหล็ก ในปัจจุบันว่ากันว่ามันเต็มไปด้วยธาตุเหล็ก แต่ความแข็งมากกว่าเหล็กธรรมดาเสียอีก และสีของมันไม่ใช่สีเงินอย่างที่แกพูดแต่เป็นสีขาว!”
ซ่งจื่อเซวียนมองตะหลิวลายฟีนิกซ์ในมือของเขาอย่างจริงจัง จะบอกว่ามันเป็นสีขาวก็ไม่เกินจริง เขาพยักหน้า “ปู่ เหล็กตุนนี้หายากมากเหรอ ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน”
“เหอะๆ เพราะเหล็กตุนมีความแข็งสูง ความเปราะบางก็สูงเหมือนกัน หากตีแรงๆ จะไม่เสียรูปทรงแต่จะแตกหัก ตั้งแต่ปรากฏขึ้นมาก็ใช้ในวงการพ่อครัวกันหมด ต่อมาเพราะเทคนิคการตีเหล็กไร้การสืบทอดจึงได้สููญหายไป ฉันคิดว่าอุปกรณ์เครื่องครัวเหล็กตุนในตอนนี้…อาจมีไม่เกินสามชิ้นมั้ง”
ซ่งจื่อเซวียนได้ยินก็เบิกตากว้างขึ้น ตระหนักว่าตะหลิวในมือของเขานั้นหายากมาก ในความคิดของเขาถ้าพูดถึงคุณค่า นี่มันล้ำค่ามากกว่าปี่เซียะหยกด้วยซ้ำ…
ปู่และหลานพูดคุยกันมากขึ้น จากนั้นฟางจิ่งจือก็เอาตะหลิวไปเก็บพร้อมกับเข้าไปพักผ่อน ซ่งจื่อเซวียนก็จากไป ทว่าในหัวเขามีแต่ตะหลิวลายฟีนิกซ์ อุปกรณ์เครื่องครัวนั้นเป็นตะหลิวที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
เช้าวันรุ่งขึ้น ซ่งจื่อเซวียนอาบน้ำและออกจากบ้านอย่างเรียบง่าย ขณะที่เขากำลังจะไปที่ป้ายรถประจำทาง ก็เห็นรถตู้หนึ่งคันจอดอยู่หน้าปากซอย คนขับไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเหลยจื่อ ลูกน้องของเสี่ยปา!
เหลยจื่อโบกมือเมื่อเห็นซ่งจื่อเซวียน “นายท่านซ่ง ทางนี้!”
ทันทีที่เขาตะโกนประตูรถตู้ก็เปิดออก และคนหกคนก็ก้าวออกมาทีละคน ซ่งจื่อเซวียนตะลึงงัน “เหลยจื่อ…นี่หมายความว่ายังไง”
“เสี่ยปาให้เอารถมารับส่งนาย จากนี้ไปฉันจะไปรับส่งนายทำงาน ขึ้นรถเถอะ” เหลยจื่อตะโกนไปทางด้านหลังหนึ่งประโยค “จงตื่นตัวและปกป้องนายท่านซ่ง!”
“ครับ!” ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน
ซ่งจื่อเซวียนมึนงง เมื่อนับรวมตัวเองและเหลยจื่อแล้ว บนรถกลับมีคนถึงแปดคน นี่มัน…รถรับส่งสำหรับคนคนเดียวดูจะบรรทุกน้ำหนักเกินไป ต้องถือว่าเป็นรถรับส่งที่แข็งแกร่งที่สุดแล้วจริงๆ…
…………………………………..
[1] เหล่าเคิง (老坑) เป็นหยกที่สวยงามมองด้วยตาเปล่าจะมีสีเขียวทั้งเม็ด ไม่มีตำหนิใดๆ หรือมีตำหนิน้อยมาก โปร่งใสจนมีความวาวคล้ายแก้ว
[2] ด้ามส่องไฟเป็นภาษาถิ่นหมายถึงไฟฉาย
[3] เนื่องจากในเรื่องใช้คำว่า炒勺 ซึ่งแปลได้ทั้งตะหลิวและกระทะก้นตื้น ซ่งจื่อเซวียนจึงเข้าใจว่าตะหลิวลายฟีนิกซ์ก็คือกระทะลายฟีนิกซ์
[4] เฉ่ากัว, เฉ่าเสา, เฉ่าฉ่าน (炒锅、炒勺、炒铲) ทั้งหมดหมายถึง ตะหลิว แต่วิธีเรียกต่างกันตามท้องถิ่นหรือภูมิภาค